วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2552

ทุนวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

จาก www.trf.or.th


ที่มาของทุน
สกว.เริ่มงาน "การวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น" ประมาณปลายปี พ.ศ.2541 โดยจัดตั้งสำนักงานภาค (ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างกระบวนการ "ติดอาวุธทางปัญญา" (Empowerment) แก่ชุมชน และท้องถิ่น รวมทั้งเน้นให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากกระบวนการวิจัย หรืออีกนัยหนึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างบรรยากาศ "การเรียนรู้ของทุกคน ทุกคนเรียนรู้ เรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่" ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่สำคัญคือ สกว. ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น จะมุ่งเน้นการจัดการ และประสานให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่าง "ปัญญา" (นักวิจัย) และ "พัฒนา" (นักพัฒนา) ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับชาติ ที่ดำเนินงานแบบแยกส่วน ต่างคน ต่างทำอยู่ในปัจจุบัน ดังคำขวัญ "สร้างสรรค์ปัญญา พัฒนาท้องถิ่น" เพื่อให้ "สังคมไทยได้ใช้ความรู้ และข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ในการแก้ไขปัญหา และตัดสินใจแทนการใช้ความรู้สึกหรืออารมณ์" นำไปสู่ความสามารถในการแก้ปัญหา พัฒนาตนเอง และพึ่งตนเองได้ในชุมชน ท้องถิ่น ตลอดจนการพัฒนาประเทศชาติที่ยั่งยืนในที่สุด

ลักษณะทุน
เน้นการวิจัยที่สามารถตอบปัญหา สร้างรูปแบบเสนอทางเลือกหรือชี้นำการปรับตัวของชุมชนท้องถิ่นได้เป็นลำดับแรก ระยะเวลาดำเนินการ ไม่เกิน 2 ปีใช้งบประมาณ ไม่เกิน 300,000 บาท
ลักษณะสำคัญของโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น

1. เป็นเรื่องอะไรก็ได้ โจทย์อะไรก็ได้ ที่ชุมชนหรือคนในท้องถิ่นเห็นว่ามีความสำคัญ และอยากจะค้นหาคำตอบร่วมกัน
2. ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการค้นหาคำตอบร่วมกัน
3. มีการดำเนินงานรวบรวมข้อมูล และทดลองปฏิบัติการ นั่นคือ มีการดำเนินงานใน 2 ระยะ
ระยะแรก วิจัยให้ทราบสภาพที่เป็นอยู่
ระยะที่สอง เป็นการทดลองทำ (วิจัยปฏิบัติการ) เพื่อแก้ปัญหาและวิเคราะห์สรุป บทเรียน รวมทั้งสิ่งที่ได้เรียนรู้

อยากทำวิจัย ต้องทำอย่างไร
ผู้สนใจควรเริ่มจากการทำ "เอกสารเชิงหลักการ" ประมาณ 4-5 หน้า นำเสนอให้กับศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในพื้นที่ (Node) หรือนำเสนอต่อ สกว. ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ในกรณีพื้นที่ที่ไม่มี Node และเมื่อ Node หรือ สกว. ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้รับเอกสารเชิงหลักการแล้ว จะพิจารณาขั้นต้น และแจ้งผลให้ผู้เสนอโครงการทราบ หรือเชิญผู้เสนอมาหารือรายละเอียดของโครงการ ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเอกสาร

เอกสารเชิงหลักการ
1. ชื่อโครงการวิจัย : ตั้งตามประเด็นปัญหา / ข้อสงสัย / เรื่องราวที่ต้องการศึกษา / เรียนรู้ / ค้นหาคำตอบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยต้องเป็นไปตามความต้องการของชุมชน
2. ความเป็นมาของเรื่องที่ต้องการทำวิจัย : สภาพการณ์ปัญหา ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นที่ไหน / อย่างไร? ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขปัญหาโดยใครหรือไม่ / อย่างไร? จนถึงปัจจุบันสภาพปัญหาเป็นอย่างไร? หากไม่หาทางแก้ไขแล้วจะเกิดผลเสียอย่างไร?
3. คำถามวิจัย / วัตถุประสงค์ ในการทำวิจัย : ต้องการศึกษาเพื่อค้นหาคำตอบ หรือต้องการแก้ปัญหาในเรื่องใด / เพื่ออะไร?
4. แผนงาน และวิธีการศึกษา เพื่อให้สามารถตอบข้อสงสัย หรือแก้ปัญหาได้ : มีแนวทางทดลองทำเพื่อนำไปสู่การหาคำตอบ หรือ แก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวอย่างไร / มีใครมาร่วมทำงานบ้าง / มีการดำเนินกิจกรรมอะไร / เมื่อไร?
5. งบประมาณ และระยะเวลาดำเนินงาน
6. ผลที่คาดว่าจะได้รับ : หากดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอน จนสามารถตอบคำถาม / ข้อสงสัย หรือแก้ปัญหาได้แล้วจะมีประโยชน์อย่างไร / ใครจะได้ประโยชน์บ้าง?
7. ข้อมูล / ประวัติย่อ หัวหน้าโครงการ และทีมวิจัย พร้อมที่อยู่ / โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้
รูปแบบการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

การวิจัยเพื่อท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ 2 ลักษณะใหญ่ๆ ดังนี้
1. การวิจัยแบบเต็มรูปแบบ (PAR) เป็นงานวิจัยที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบตามแนวความคิดการวิจัยเพื่อท้องถิ่นทั้งในเชิงเนื้อหา และในเชิงกระบวนการ ภายใต้หลักการว่า "เป็นปัญหาของชาวบ้าน ชาวบ้านเป็นทีมวิจัย และมีปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหา" โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 2 ปี งานวิจัยแบบนี้ มี 2 ลักษณะ กล่าวคือ

1.1 การวิจัยที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาสังคมในทุกประเด็น เป็นการศึกษาในเชิงกระบวนการเคลื่อนตัวของชุมชนท้องถิ่นในบริบทหนึ่งๆ ต่อการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ชุมชนท้องถิ่นร่วมกันดำเนินการ ได้แก่ ชุมชนกับการจัดการปัญหาต่างๆ การรวมกลุ่มหรือการสร้างเครือข่ายปัญหาหรืออาชีพ การเรียนรู้และการศึกษาทางเลือก ซึ่งสามารถใช้เกณฑ์การสนับสนุนตามปกติของ สกว. ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่มีอยู่แล้ว

1.2 การวิจัยที่เน้นการทดลองเปรียบเทียบและทดสอบปัจจัยต่างๆ เป็นการศึกษาเพื่อที่จะทดลอง / ทดสอบพึ่งตนเองเป็นหลัก ได้แก่ การทดลองปัจจัยต่างๆ ในการผลิต การแปรรูปและการตลาด โดยเน้นทางเลือกอาชีพเป็นหลัก โดยพัฒนาเกณฑ์การสนับสนุนที่เหมาะสมกับแต่ละประเด็นที่ต้องการทดลอง เงื่อนไขของแต่ละท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์

2. การวิจัยทางเลือกใหม่เพื่อท้องถิ่น เป็นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นรูปแบบใหม่ที่พัฒนามาจากแบบแรกเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการและสอดคล้องกับศักยภาพของท้องถิ่นและกลุ่มคนซึ่งมีหลากหลายระดับ หรือเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม เป็นการเริ่มต้นทดลองทำงานวิจัยอย่างง่ายๆ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่มากนักประมาณ 3 - 6 เดือน หรือไม่เกิน 1 ปี มีหลายทางเลือก ดังนี้

2.1 การวิจัยเบื้องต้น เป็นกระบวนการพัฒนาโจทย์วิจัยและการรวบรวมความรู้ รวมถึงการเตรียมชุมชน เตรียมทีมวิจัยชาวบ้าน เพื่อวางแผนและแก้ปัญหาในเบื้องต้นหรือพัฒนาไปสู่งานงานวิจ้ยเต็มรูปแบบต่อไป เช่น การถอดความรู้จากงานพัฒนาในอดีตที่ทำสำเร็จมาแล้ว / การรวบรวมข้อมูลความรู้เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนพัฒนา เป็นต้น

2.2 การวิจัยที่เน้นการถอดความรู้และรวบรวมองค์ความรู้จากการทำงานพัฒนาของชุมชน เป็นเรื่องที่ชุมชนอยากรู้ อยากรวบรวมความรู้ของตนเอง และชุมชนร่วมกันทำงานวิจัย โดยไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาชุมชนมากนัก เช่น การวิจัยเพื่อรวบรวมความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน / การศึกษารวบรวมความรู้ประเพณี 12 เดือน / การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นต้น

2.3 การวิจัยเชิงความร่วมมือ เป็นการสนับสนุนการสร้างความรู้ร่วมกับหน่วยงานหรือภาคีอื่นๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานเพื่อชุมชนท้องถิ่น เป็นความร่วมมือทั้งในแง่ การมีเป้าหมายเพื่อท้องถิ่น ความร่วมมือของคนหรือทีมงาน การสนับสนุนปัจจัยและทุนดำเนินการร่วมกัน โดยมุ่งสร้างสิ่งต่อไปนี้ เช่น การสร้างกลไกความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น / การสร้างเครื่องมือ / ตัวชี้วัดการพัฒนาและการแก้ปัญหาท้องถิ่น / การประเมินผลการทำงานร่วม / การเชื่อมความรู้ระหว่างหน่วยงาน เป็นต้น

ทั้งนี้การวิจัยทางเลือกใหม่ทั้งสามลักษณะ เป็นการทำวิจัยในเบื้องต้นเพื่อพัฒนาความพร้อมของประเด็นศึกษา หรือกลุ่มคน โดยคาดหวังว่าจะนำไปสู่การทำวิจัยแบบเต็มรูปแบบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: