วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2552

ทุนวิจัยเชิงวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

จาก www.trf.or.th

ลักษณะทุน
เน้นการสร้างนักวิจัยที่มีความสามารถสูงให้สร้างปัญญาและผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูง รับผิดชอบโดยฝ่ายวิชาการ มีเป้าหมายในการสร้างนักวิจัยอาชีพที่มีความสามารถสูงให้สร้างปัญญาและผลิตผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนวิจัยทุนวิจัยของฝ่ายวิชาการแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

1. ทุนวิจัยพื้นฐานจากความคิดริเริ่มของนักวิจัย แบ่งเป็น

1.1 ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส สกว.) เป็นทุนสร้างทีมวิจัย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนนักวิจัยอาวุโสที่มีความสามารถ มีจริยธรรม มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติให้สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความสามารถทางวิชาการสูงให้แก่ประเทศ โดยเน้นหนักในการพัฒนาทีมงาน พัฒนาผลงาน และพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่เพื่อสร้างศักยภาพเชิงปัญญาระยะยาวของชาติ ผู้รับทุนต้องไม่เป็นผู้บริหารระดับคณบดีขึ้นไป โดยผู้ได้รับทุนจะได้รับชื่อ "เมธีวิจัยอาวุโส สกว. (TRF Senior Research Scholar)"* *ผู้ได้รับทุนจะได้เงินงบประมาณรวมไม่เกิน 7.5 ล้านบาท (2.5 ล้านบาท/ปี) สำหรับสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 6 ล้านบาท (2 ล้านบาท/ปี) สำหรับสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปีทุนประเภทนี้ไม่ได้เปิดให้สมัคร แต่ใช้วิธีการสรรหาและเสนอชื่อ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะพิจารณาจากรายชื่อในกลุ่มต่างๆ เช่น รายนามศาสตราจารย์ในประเทศไทย รายนามนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น รายนามนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รายนามผู้ได้รางวัลวิจัยดีเด่นของมหาวิทยาลัยต่างๆ รายนามนักวิจัยอาวุโสที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้เสนอรายชื่อ และ รายนามคณาจารย์ที่มีผลงานทางวิชาการเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ หลังจากนั้นจะเรียนเชิญนักวิจัยผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน เขียนข้อเสนอโครงการวิจัยฉบับเต็ม เพื่อ สกว. จะส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินและใช้ประกอบการพิจารณาให้ทุนต่อไป

1.2 ทุนวิจัยองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนา (วุฒิเมธีวิจัย สกว.)เป็นทุนวิจัยระดับกลางสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในการวิจัยพอสมควร ผู้อยู่ในข่ายได้รับทุนต้องเคยมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติที่ทำในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เรื่องในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาและเป็นเจ้าของบทความชื่อแรกหรือเป็น corresponding author และมีผลรวมของ impact factor อยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาขาวิชา เช่น มีค่าไม่น้อยกว่า 5.0 สำหรับวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ ไม่น้อยกว่า 2.0 สำหรับวิทยาศาสตร์กายภาพและ วิศวกรรมศาสตร์ ส่วนสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะไม่นำเกณฑ์ของ impact factor มาพิจารณา ผู้ได้รับทุนจะได้รับชื่อ "วุฒิเมธีวิจัย สกว. (TRF Advanced Research Scholar)"* *ทุนวิจัยองค์ความรู้ใหม่มีวงเงินไม่เกิน 2,000,000 บาท ระยะเวลาของทุนไม่เกิน 3 ปี โดยเป็นค่าตอบแทนของหัวหน้าโครงการเดือนละ 15,000-25,000 บาท ตามคุณภาพและประสบการณ์ของผู้ขอรับทุน

1.3 ทุนเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยของอาจารย์รุ่นกลางในสถาบันอุดมศึกษา (สกว. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา)เป็นทุนที่ สกว. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สนับสนุนการวิจัยแก่อาจารย์รุ่นกลางในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำวิจัยของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับทุนต้องเป็นอาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของ สกอ. ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก เป็นผู้ที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่เป็นเจ้าของบทความชื่อแรกหรือเป็น corresponding author (ผู้วิจัยสำหรับการติดต่อ) ไม่น้อยกว่า 1 เรื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยไม่ต้องเป็นงานวิจัยที่ทำในประเทศไทย และไม่ใช่ผลงานจากการทำวิทยานิพนธ์ และไม่เป็นผู้บริหารระดับหัวหน้าภาควิชาขึ้นไป* *งบประมาณปีละ 400,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยแบ่งเป็นเงินค่าใช้จ่ายในการวิจัยปีละ 220,000 บาท และเป็นเงินสนับสนุนค่าครองชีพเดือนละ 15,000 บาท

1.4 ทุนพัฒนานักวิจัย (เมธีวิจัย สกว.)เป็นทุนที่มีเป้าหมาย หลักเกณฑ์การให้ทุน วงเงินทุนวิจัยและระยะเวลาดำเนินการเช่นเดียวกับทุนเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยของอาจารย์รุ่นกลางในสถาบันอุดมศึกษา แต่เปิดรับสมัครเฉพาะผู้สมัครที่ไม่ได้เป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของ สกอ. ซึ่งผู้สมัครต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า อายุไม่เกิน 45 ปี มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติที่เป็นเจ้าของบทความชื่อแรกหรือเป็น corresponding author ไม่น้อยกว่า 1 เรื่องใน 5 ปีที่ผ่านมา โดยไม่ใช่ผลงานจากวิทยานิพนธ์ และเป็นผลงานที่ทำในประเทศไทย มีการวิจัยอยู่ในเกณฑ์ดีเด่น และไม่เป็นผู้บริหารระดับหัวหน้าภาควิชาขึ้นไป ผู้ได้รับทุนได้ชื่อว่าเป็น "เมธีวิจัย สกว. (TRF Research Scholar)"

1.5 ทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ (สกว. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา)เป็นทุนที่ สกว. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนอาจารย์รุ่นใหม่ให้ทำวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง ผู้อยู่ในข่ายรับทุนคืออาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของ สกอ. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า มาแล้วไม่เกิน 5 ปี ไม่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารตั้งแต่ระดับหัวหน้าภาควิชาขึ้นไป* *ทุนนี้มีวงเงินปีละไม่เกิน 240,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี เป็นเงินสนับสนุนค่าครองชีพเดือนละ 10,000 บาท

1.6 ทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่เป็นทุนที่มีเป้าหมาย หลักเกณฑ์การให้ทุน วงเงินทุนวิจัยและระยะเวลาดำเนินการเช่นเดียวกับทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ แต่เปิดรับสมัครเฉพาะผู้สมัครที่ไม่ได้เป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของ สกอ. ซึ่งผู้สมัครต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่ามาแล้วไม่เกิน 5 ปี อายุไม่เกิน 45 ปี และไม่เป็นผู้บริหารระดับหัวหน้าภาควิชาขึ้นไป และผู้สมัครต้องมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอย่างน้อย 1 เรื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สำหรับสาขาสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์จะพิจารณาจากคุณภาพผลงานที่มีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

2. ทุนวิจัยพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Basic Research Grant)เป็นโครงการที่เน้นงานวิจัยที่สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยมีทิศทางที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ในระยะกลางหรือระยะยาวได้อย่างแท้จริง ปัจจุบันฝ่ายวิชาการได้ให้การสนับสนุน 6 ชุดโครงการ ได้แก่

2.1 ชุดโครงการวิจัยแบบมุ่งเป้า "สมุนไพร ยารักษาโรค และสารเสริมสุขภาพ" มีเป้าหมายหลักเพื่อนำผลงานวิจัยโดยเฉพาะการพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพไปใช้ประโยชน์ในด้านการเป็นยารักษาโรค สารอาหารบำรุงสุขภาพ เช่น สารต้านมะเร็ง สารต้านการติดเชื้อ สารต้านการอักเสบ สารต้านไวรัส และสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น

2.2 ชุดโครงการวิจัยแบบมุ่งเป้า "การพัฒนาเกษตรยั่งยืน" มีเป้าหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านพันธุ์และพันธุศาสตร์พืช รวมถึงเครื่องหมายโมเลกุลที่จะพัฒนาพันธุ์พืชที่ใช้สารเคมีน้อย มีผลผลิตและคุณภาพดี สามารถหลีกเลี่ยงหรือลดการใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนของการผลิตพืช สร้างผลงานวิจัยที่นำไปสู่การใช้สารอินทรีย์และ/หรือจุลินทรีย์ทดแทนสารเคมีในการผลิตพืช อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด สร้างพื้นฐานของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งภายในและนอกประเทศ และพัฒนาความรู้ที่ช่วยให้เกษตรกรผู้ผลิตได้ผลตอบแทนดีกว่าหรือใกล้เคียงกับการใช้ระบบการผลิตที่ปฏิบัติอยู่ ณ ปัจจุบัน

2.3 ชุดโครงการวิจัยแบบมุ่งเป้า "การผลิตสัตว์น้ำเศรษฐกิจ" มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการวิจัยและนำองค์ความรู้จากงานวิจัยพื้นฐานด้านต่างๆ เช่น ด้านพันธุศาสตร์ ชีววิทยาสืบพันธุ์ จุลชีววิทยา พยาธิชีววิทยา ระบาดวิทยาของโรคที่เกี่ยวกับสัตว์น้ำ ฯลฯ มาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มผลผลิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์

2.4 ชุดโครงการวิจัยแบบมุ่งเป้า "การผลิตสัตว์บกเศรษฐกิจ" มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการวิจัยและนำองค์ความรู้จากงานวิจัยพื้นฐานด้านต่างๆ เช่น ด้านพันธุศาสตร์ ชีววิทยาสืบพันธุ์ จุลชีววิทยา พยาธิชีววิทยา ระบาดวิทยาของโรคที่เกี่ยวกับสัตว์บก ตลอดจนเทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ มาประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงและเพิ่มผลผลิตสัตว์บกเศรษฐกิจ

2.5 ชุดโครงการวิจัยแบบมุ่งเป้า "ชีววิทยาเซลส์ต้นกำเนิดและเวชศาสตร์การฟื้นฟูสภาวะเสื่อม" มีเป้าหมายเพื่อทำให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับกลไกควบคุมการพัฒนาของเซลส์ต้นกำเนิดและการนำเซลส์ต้นกำเนิดมาประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ที่เกิดจากความเสื่อม การทำลายและการตายของอวัยวะต่างๆ

2.6 ชุดโครงการวิจัยแบบมุ่งเป้า "นาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี" มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยพื้นฐานไปสู่การประยุกต์ใช้ และสร้างเครือข่ายความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนาโนอุตสาหกรรมกับในและต่างประเทศ โดยอาจเป็นโจทย์วิจัยที่กำลังเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมอยู่ในขณะนี้ เช่น การนำนาโนวัสดุไปเพิ่มมูลค่าของสินค้าประเภท สิ่งทอ ไม้ พลาสติก วัสดุก่อสร้าง วัสดุทางการเกษตร ยานยนต์ เภสัชภัณฑ์ เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมเคลือบผิว อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น หรือ อาจเป็นโจทย์วิจัยที่เตรียมพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมของอนาคตในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า เช่น นาโนเทคโนโลยีด้านพลังงาน นาโนอุปกรณ์ นาโนเซ็นเซอร์ พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ นาโนเทคโนโลยีด้านความมั่นคง นาโนเกษตรกรรม Functional Foods รวมไปถึงหัวข้อที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็น Emerging Technologies หรือ Disruptive Technologies ในอนาคต เป็นต้น

3. โครงการการสร้างกำลังคนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของฝ่ายวิชาการ มีเป้าหมายเพื่อสร้างกำลังคนและองค์ความรู้จากงานวิจัยพื้นฐานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และ/หรือแก้ปัญหาจากอุตสาหกรรม โดยจัดให้มีทุนวิจัย 3 ระดับซึ่งขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของโจทย์วิจัย และเนื้อหาของโครงการ ตลอดจนคุณสมบัติของผู้สมัครขอรับทุน

ระดับที่ 1 วงเงินงบประมาณไม่เกิน 1,000,000 บาท ในระยะเวลา 2 ปี

ระดับที่ 2 วงเงินงบประมาณไม่เกิน 1,500,000 บาท ในระยะเวลา 2 ปี

ระดับที่ 3 วงเงินงบประมาณไม่เกิน 3,000,000 บาท ในระยะเวลา 2 ปี

ลักษณะของโครงการและคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ขอรับทุน

1. เป็นโจทย์วิจัยที่ได้มาจากภาคอุตสาหกรรมหรือพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมที่ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือเป็นโครงการที่มีองค์ความรู้จากงานวิจัยพื้นฐานพอเพียง ซึ่งพร้อมจะแปล (translate) เป็นผลผลิตหรือเพื่อการแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรมได้

2. หัวหน้าโครงการต้องมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในลักษณะใดลักษณะหนึ่งคือ เป็นโครงการที่ภาคอุตสาหกรรมร่วมทุนด้วย (in cash หรือ in kind) และ/หรือต้องมีการปฏิบัติงานวิจัยส่วนหนึ่งที่สถานประกอบการอุตสาหกรรม และ/หรือมีนักวิจัยจากสถานประกอบการอุตสาหกรรมมาปฏิบัติการวิจัย ณ สถานศึกษา/วิจัย

3. เป็นโครงการวิจัยที่มีความเชื่อมโยงกับการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ และ/หรือการสร้างกำลังคนระดับปริญญาตรี และ/หรือโท และ/หรือเอก โดย สกว. จะให้ความสำคัญกับโครงการที่มีลักษณะเป็นกลุ่มวิจัยที่มีโจทย์วิจัยเชื่อมโยงกัน

4. ผลลัพธ์ (output) ต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมและสามารถตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ และ/หรือจดสิทธิบัตร และ/หรือได้สิ่งประดิษฐ์ที่มีนวัตกรรมสูงซึ่งเป็นที่ยอมรับ

5.หัวหน้าโครงการควรมีประสบการณ์วิจัยที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติอย่างต่อเนื่อง และ/หรือมีสิทธิบัตร และ/หรือมีสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณภาพสูงในเรื่องเดียวกัน หรือที่ใกล้เคียงกับเนื้อหาของโครงการวิจัยที่นำเสนอ

6.นักวิจัยมีต้นสังกัดเป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยที่เป็นหน่วยงานของรัฐหรือของภาคเอกชน

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ http://academic.trf.or.thหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายวิชาการ สกว. โทรศัพท์ : 0-2278-8251-9 Email : trfbasic@trf.or.th

ไม่มีความคิดเห็น: